ผ่านทุกขเวทนาไม่ได้
ผ่านทุกขเวทนาไม่ได้
"การภาวนาเริ่มจะยาก" คือว่า "ผ่านทุกขเวทนาไม่ได้"
พอนั่งภาวนาเป็นเวลานานพอสมควร มักจะเกิดทุกขเวทนาใหญ่คือทุกเวทนากล้ามาก ท่านได้ต่อสู้มาหลายครั้งหลายหนแต่ก็ยังไม่สามารถเอาชนะได้ ท่านจึงได้กราบเรียนถึงประสบการณ์นี้ถวายท่านพระอาจารย์มหาบัวทราบ
พอท่านพระอาจารย์มหาบัวทราบแล้ว ก็แนะนำวิธีการต่อสู้กับทุกขเวทนาให้ฟัง โดยให้ใช้สติปัญญาพิจารณาแยกธาตุขันธ์ ท่านได้นำอุบายที่ได้รับฟังมานั้นมาปฏิบัติ ด้วยการตั้งสัจจะว่า จะสู้กับทุกขเวทนานี้แบบสละชีวิต เพื่อให้รู้เห็นความจริงของทุกข์ ถึงแม้จะปวดหนักปวดเบาขนาดไหน ก็จะไม่ยอมลุกหนีจะปล่อยให้มันออกเลย
เมื่อท่านพระอาจารย์ได้อุบายจากท่านพระอาจารย์มหาบัวแล้ว ได้เวลาท่านก็เตรียมนั่งชนิดว่าแต่งตัวเต็มยศ คือ ห่มจีวร ใส่สังฆาฏิ แล้วนั่ง โดยตั้งใจเอาไว้ว่า ถ้าผ่านทุกขเวทนานี้ไม่ได้แล้ว จะไม่ยอมลุกจากที่เด็ดขาด
เวลาต่อสู้อยู่นั้น มันทุกข์มาก เจ็บปวดมาก ผิดกันกับทุกขเวทนาที่เคยผ่านมา ฉะนั้น ครูบาอาจารย์ท่านจึงได้ตั้งชื่อนี้เอาว่า ทุกขเวทนาใหญ่ ซึ่งไม่มีในตำรา ท่านว่ามันทุกข์จนเหงื่อหรืออะไรภาษาอีสานเขานิยมว่า ยางตาย ออกเปียกหมดทั้งตัว
ท่านว่าเวลายกมือขึ้นดู เหงื่อ (ยางตาย) จะหยดปั๊บๆ ตามนิ้วมือ ท่านว่ามันทุกข์ขนาดนั้นนะ แต่ปรากฏว่าท่านก็ผ่านไปได้ จิตสงบลงรวมผิดปกติเป็นอัศจรรย์ ทำให้ท่านมีกำลังใจในการปฏิบัติมาก
และจากนั้นก็ไม่ปรากฏว่าทุกขเวทนาใหญ่นั้นได้เกิดขึ้นอีกเลย ท่านว่าจิตมันเปลี่ยนไปคนละอย่างกับสมัยที่ยังสู้มันไม่ได้ คือ เวลานั่งไปทุกขเวทนาทำท่าจะเกิดขึ้น จิตมันไม่กลัวเหมือนแต่ก่อน
ท่านว่ากลับดีใจว่าเราจะได้กำลังใจอีกแล้ว เพราะการต่อสู้แบบนี้ท่านว่าได้กำลังใจคุ้มค่า จึงเกิดความดีใจ แต่เมื่อเรารับรู้มันแล้ว มันก็ไม่เกิด จะเกิดขึ้นก็ธรรมดา ไม่ใช่เวทนาใหญ่แบบนั้น
ท่านพระอาจารย์เคยเล่าให้ฟังว่า คราวที่สติปัญญามันกล้า มันกล้าจริงๆ พิจารณาอะไร เรื่องที่ใจติดข้องหรือสงสัย มันเหมือนกันกับว่าทิ้งเศษกระดาษใส่ไฟกองใหญ่ๆ มันแว้บเดียว แว้บเดียวเท่านั้น มันหายสงสัย มันขาดไป ตกไป
ใจจึงเพลินในการพิจารณาและค้นหาเรื่องที่ใจยังคิดยังสงสัย เมื่อเจอแล้วพิจารณาเข้าไป มันขาดไปๆ ตกไปๆ จึงทำให้เพลินในการพิจารณา ต่อไปจิตของท่านก็ไหลเป็นน้ำซับน้ำซึมคือไม่มีเผลอเลย เว้นเสียแต่หลับ
ก่อนจะหลับพิจารณาอะไร เมื่อตื่นขึ้นก็จับพิจารณาต่อไปได้เลย ครั้นต่อมา จิตของท่านก็ตกว่าง จิตว่างนี้ ท่านว่ายังไม่ใช่นิพพานดอกนา บางคนอาจจะเข้าใจว่า จิตว่างนี้คือนิพพาน ท่านว่ายังไม่ใช่ เวลาผ่านไปแล้วค่อยรู้ ท่านว่าต้องย้อนจิตเข้ามารู้ตัวผู้ที่รู้ว่าว่างนั้นอีก
แต่จิตของท่านพระอาจารย์นี้ไม่มีขณะ เหมือนครูบาอาจารย์องค์อื่นๆ เป็นชนิดที่เหี่ยวแห้งไปเลย (จิตชนิดนี้ในตำราก็คงมีบอก) จากนั้นไปท่านว่ามันไม่เหมือนแต่ก่อน คือมันไม่ติดกับอะไร เหมือนกับทิ้งเมล็ดงาใส่ปลายเข็มท่านว่า มันไม่ติด ซึ่งแต่ก่อนที่ยังมีกิเลสอยู่มันก็รู้ เมื่อมันหมดทุกสิ่งทุกอย่างแล้ว ที่จะละ จะบำเพ็ญ จะไม่ให้รู้ได้อย่างไร ท่านว่ามันรู้แต่สมมุติทั่วไปของโลก ที่ใช้กัน ก็ใช้ไปธรรมดา
บางคนอาจจะเข้าใจว่า ครูบาอาจารย์ว่าท่านหมดกิเลสแล้ว ทำไมจึงดุ และดุเก่งด้วย ท่านว่าอันนั้นมันเป็นพลังของธรรม มันไม่ใช่กิเลส เราเคยเป็นมาเรารู้ ท่านว่า พวกเรานี้จิตยังไม่เป็นธรรม มันมีแต่พลังของกิเลส เมื่อเห็นท่านแสดงอาการอย่างนั้น ก็เข้าใจว่าจะเหมือนกันกับเรา ท่านว่าถ้าอยากรู้ให้ปฏิบัติ เมื่อจิตถึงที่สุด หมดความสงสัยในตัวแล้วจะรู้เอง
พระอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร