เอ็นพีเอการบัญชี

พิจารณาลงไปที่ไตรลักษณ์


พิจารณาลงไปที่ไตรลักษณ์

“พิจารณาทุกอย่างลงไปที่ไตรลักษณ์”

ฝึกสอนใจให้อยู่ตรงกลาง ระหว่างชอบกับไม่ชอบ ให้เป็นอุเบกขา ให้สักแต่ว่ารู้ ให้รับรู้ทุกอย่างที่ใจสัมผัส ไม่ว่าจะเป็นรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะชนิดใดก็ตาม จะทำได้ก็ต้องพิจารณาให้เห็นว่า สิ่งที่เราชอบก็ไม่ได้ดีจริง สิ่งที่เราไม่ชอบก็ไม่ได้ไม่ดีจริง ทั้งสิ่งที่เราชอบและไม่ชอบมันเหมือนกัน คือเป็นไตรลักษณ์เหมือนกัน ไม่เที่ยงเหมือนกัน ให้ความทุกข์กับเราเหมือนกัน ควบคุมบังคับไม่ได้เหมือนกัน นี่คือวิธีปฏิบัติกับสิ่งเหล่านี้ เพื่อจิตใจจะได้ไม่ว้าวุ่นขุ่นมัว เพื่อทำใจให้เป็นอุเบกขา

การจะทำใจให้เป็นอุเบกขาได้จึงต้องมีสมาธิ ถ้าไม่มีสมาธิจะไม่รู้จุดของอุเบกขาว่าอยู่ตรงไหน จะมีแต่ชอบหรือไม่ชอบเวลาเจออะไร แต่ถ้ามีสมาธิแล้วจะรู้ว่าอุเบกขาเป็นอย่างไร เวลาขยับไปที่ชอบหรือไม่ชอบจะรู้ทันที ว่าได้ออกจากจุดอุเบกขาไปแล้ว จะรู้ว่าจิตเริ่มกระเพื่อมแล้ว กำลังเข้าไปหาความทุกข์แล้ว เพราะถ้าชอบเดี๋ยวก็ต้องเสียใจ เวลาสิ่งที่ชอบจากไปหายไป ถ้าไปเจอสิ่งที่ไม่ชอบก็จะกระวนกระวายใจขึ้นมาทันที 

ต้องดึงจิตให้กลับเข้าสู่อุเบกขา ถ้าดึงด้วยสติก็จะอยู่ได้ชั่วคราว ถ้าดึงด้วยปัญญาก็จะอยู่ได้ถาวร ต้องยอมรับความจริงว่า สิ่งที่ไม่ชอบก็เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เมื่อต้องอยู่ด้วยกันก็อยู่กันไป ไม่ต้องปฏิเสธ ไม่ต้องขยับหนี ไม่ต้องขับไล่ไสส่ง รูปที่เราชอบหรือไม่ชอบก็เป็นรูปเหมือนกัน คนที่เราชอบหรือไม่ชอบก็มาจากดินน้ำลมไฟเหมือนกัน ถ้ามองว่าเป็นเพียงสักแต่ว่ารูปเท่านั้น ก็จะไม่เกิดอารมณ์ชอบหรือชัง ถ้าพิจารณาทุกอย่างลงไปที่ไตรลักษณ์แล้ว จิตจะเป็นอุเบกขา จิตจะปล่อยวาง

กำลังใจ ๔๐, กัณฑ์ที่ ๓๘๒        
วันที่ ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๑

#พระจุลนายก พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี