เอ็นพีเอการบัญชี

ฐานที่ตั้งของจิต ๙ แห่ง


ฐานที่ตั้งของจิต ๙ แห่ง

ในการฝึกจิตนั้น หากผู้ปฏิบัติรู้จักการประคองจิต เพ่งจิต ปลอบจิตและปล่อยจิต โดยอาศัยหลักการกำหนดจิตไว้ ณ ฐานที่ตั้งของจิต ๙ แห่ง ก็จะช่วยให้ผู้ปฏิบัติฝึกจิตของตนมีสติอยู่กับกาย มองเห็นกายภายใน และภายนอก พัฒนาจิตของตนให้มีสติตั้งมั่นได้นาน ตามฐานที่ตั้งของจิต ดังนี้

๑) อัษฏากาศ คือ ด้านบนสุดของศีรษะ เป็นที่อดทนสงบเสงี่ยม เมื่อตั้งจิตทำความรู้สึกอยู่ที่กระหม่อมส่วนบนสุดของศีรษะ จะทำให้เกิดปีติ รู้สึกเย็น

๒) ทิพยสูญ คือ ระหว่างคิ้ว เป็นที่ประหารโทษทั้งปวง และเป็นตบะเดชะด้วย เมื่อตั้งจิตทำความรู้สึกที่ทิพยสูญแล้ว ปล่อยออกไปภายนอกจะทำให้เกิด "สูญตาสมาธิ"

๓) มหาสูญ ระหว่างตาเป็นที่เกิดปัญญา เห็นโทษทั้งปวง เมื่อตั้งจิตทำความรู้สึกอยู่ที่มหาสูญแล้วมองกายภายใน จะทำให้เกิด "ญาณ" เห็นความเกิดดับภายใน เมื่อทำความรู้สึกลึกเข้าไปในทรวงอกใต้ลิ้นปี่จะทำให้จิตรวมตัวเกิดเป็น พลังงานความร้อนอบอุ่น และเห็นการเกิดดับ การทำงานของหัวใจ ถ้าผู้ปฏิบัติตั้งจิตทำความรู้สึกที่มหาสูญ และทรวงอกพร้อมกันเป็นระยะเวลานาน จะทำให้ผู้ปฏิบัติเห็นการเกิดดับของจิต ทำให้จิตรวมตัวเกิดพลังงานทำให้จิตใจแจ่มใส เกิดปัญญาทำลายอวิชชาได้

๔) จุดสูญน้อย ปลายจมูก เป็นที่นำความยินดีทั้งปวง และนำปฏิสนธิแห่งสัตว์ด้วย เมื่อตั้งจิตทำความรู้สึกที่จุดสูญน้อยแล้วดูลมหายใจเข้าออกเรียกว่า การเจริญอานาปานสติ จะทำให้ผู้ปฏิบัติเข้าถึงความสงบใจได้ง่าย เกิดปีติและความเยือกเย็นแห่งจิต

๕) โคตรภู ท้ายทอย เป็นที่หลบซ่อนทุกขเวทนาทั้งปวง ขาดจากบาปธรรมเมื่อจะตาย เมื่อตั้งจิตทำความรู้สึกที่ท้ายทอยแล้วปล่อยให้จิตไหลลงในกาย จะเห็นความเกิดดับ ความสิ้น ความเสื่อมสลายภายใน เป็นการพิจารณาธรรมภายใน

๖) ห้องสมุดคอกลวง เป็นที่หลับ ที่ขาดรส ที่ภังคะและเป็นที่นิโรธสัจจะรวมกัน เวลาฉันอาหาร (รับประทานอาหาร) ถ้าหากตั้งจิตทำความรู้สึกไว้จะทำให้ไม่รู้รสของอาหาร และจะไม่สามารถกลืนอาหารได้ จะเป็นการบังคับให้การเคี้ยวละเอียดไปในตัวด้วย

๗) ห้องหทัยวัตถุ ทรวงอก เป็นที่ปฏิสนธิแห่งกุศลและอกุศลสัมปยุตธาตุด้วย เมื่อตั้งจิตทำความรู้สึกที่ห้องหทัยวัตถุ จะทำให้จิตรวมตัวและเกิดพลังงานมีอำนาจในการเผานิวรณ์ และทำลายล้างกิเลสได้นอกจากนี้ยังเป็นจุดเกิดดับของธรรมารมณ์ต่าง ๆ จึงนับว่าเป็นจุดที่มีความสำคัญต่อการฝึกจิตมาก

๘) เหนือสะดือ ๑ นิ้ว เป็นที่เกิดบาปธรรมทั้งปวง เป็นที่ประชุมธาตุ เมื่อตั้งจิตไว้ จะทำให้จิตลงสู่ภวังค์ง่าย และบางครั้งจะทำให้เกิดความรู้สึกวาสลึกลงไปเหมือนกับลงเหว บางครั้งจะรู้สึกทำให้เวิ้งว้าง จับสภาวะไม่ได้

๙) อัษฏากาศเบื้องต่ำ เป็นที่กำหนดความรู้สึกได้ง่าย คือ เป็นจุดที่ผู้ปฏิบัติควรตั้งจิตทำความรู้สึกไว้ เมื่อเกิดความฟุ้งซ่าน จะช่วยให้จิตอยู่กับตัวได้ง่าย ไม่ฟุ้งซ่านมาก และเป็นจุดแก้กรรมฐานสำหรับผู้ที่ปฏิบัติแล้วไม่เห็นสภาวธรรม ไม่สามารถกำหนดสภาวะทางกายได้ หรือ ผู้ที่เกิดปีติจากการปฏิบัติมากเกินไป รู้สึกกายเบาจิตเบามาก เมื่อกำหนดจิตทำความรู้สึกที่อัษฏากาศเบื้องต่ำ จะช่วยให้ผู้ปฏิบัติมีจิตอยู่กับตัวเกิดความรู้สึกตัวทั่วพร้อมของร่างกาย ได้ดี

อัษฏากาศเบื้องต่ำนี้ เป็นจุดที่ไม่เหมาะสำหรับผู้ปฏิบัติที่เกิดทุกขเวทนาเพราะจะเป็นการเพิ่ม ทุกข์ให้มากขึ้นกว่าเดิม เมื่อทุกขเวทนาเกิดขึ้นมาก ผู้ปฏิบัติควรรวมจิตให้เป็นหนึ่งไว้ที่ทรวงอกใต้ลิ้นปี่ กำหนดให้นิ่ง และลึกลงไปจนกระทบกระดูกสันหลัง เมื่อจิตรวมตัวจะเกิดพลังงานความร้อน แล้วเคลื่อนความรู้สึกนั้นตั้งไว้บนกระหม่อมระยะหนึ่งแล้วปล่อยกระแสความ รู้สึกนั้นให้ทั่วร่างกาย พลังงานความร้อนนี้จะช่วยให้ดับทุกขเวทนาในกายได้ เมื่อผู้ปฏิบัติมีความรู้สึกภายในแล่นไปตลอดกาย และกายรวมเป็นหนึ่งเดียว

ฐานที่ตั้งจิต ๙ แห่งนั้น จักเกิดประโยชน์แก่ผู้ปฏิบัติ แตกต่างกันดังนี้
คือ เนื่องจากจิตนั้นเป็นธรรมชาติ ดิ้นรน กวัดแกว่ง ห้ามยาก รักษายากสำหรับผู้ปฏิบัติฝึกจิตเบื้องต้นนั้น การตั้งจิตที่ฐานมหาสูญ หทัยวัตถุและอัษฏากาศเบื้องต่ำนั้น จะช่วยให้ผู้ฝึกจิตรวมตัว เกิดสมาธิได้ง่าย จิตไม่ฟุ้งซ่าน ส่วนผู้ที่ปฏิบัติวิปัสสนา กำหนดรูปกาย รูปกายเห็นเวทนาทางกายแตกและดับไปแล้ว จิตจะเห็นธรรมแยกจากกายคนละส่วน เมื่อผู้ปฏิบัติธรรมจิตแทงทะลุตลอดกาย เห็นสภาวะกายละเอียดภายใน ได้สมาธิภายใน

ผู้ปฏิบัติธรรมจะสามารถตั้งจิตตามฐานจิต ๙ แห่ง ได้อย่างมั่นคงและเห็นผลจากการฝึกจิตปฏิบัติธรรมอย่างเต็มที่